เทศกาลแห่งสายน้ำ หรือ Water Festival เป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองขึ้นปีใหม่ของผู้คนที่เป็นวัฒนธรรมร่วมรากจากอดีต ดินแดนอุษาคเนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทางตอนใต้ของจีน และบางของส่วนอินเดียใต้ก็มีการเฉลิมฉลองที่คล้ายคลึงกัน โดยมีความหมายหลักที่เหมือนกันคือ การชำระล้างก่อนเปลี่ยนผ่านจากปีเก่าไปสู่ปีใหม่ เพื่อต้อนรับสิ่งดีๆ ที่กำลังจะเข้ามา ซึ่งปัจจุบันเป็น Soft Power ที่สร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างมหาศาล สะท้อนให้เห็นถึงการเคลื่อนผ่านทางวัฒนธรรมความเชื่อผ่านทั้งการเคลื่อนย้ายของคนหรือการแพร่ไปของศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาพุทธ มักจะจัดขึ้นในเดือน 5 ปฏิทินจัทรคติ Lifestyle Asia จะพาคุณไปดู เทศกาลสงกรานต์ ที่ไม่ได้มีแค่ในเมืองไทย จะมีที่ไหนกันบ้าง
Jump To / Table of Contents
1 /5
เทศกาลสงกรานต์ในประเทศลาว จะจัดขึ้นในเมืองใหญ่อย่างหลวงพระบาง เวียงจันท์ และตามหัวเมืองต่างๆ นับเป็นบ้านพี่เมืองน้องของเราที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับไทยมากที่สุด จัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 14-16 เมษายนของทุกปี มีลักษณะใกล้เคียงกับประเพณีของล้านนาทางภาคเหนือของไทย เช่นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นอย่างมากด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดบ้านเรือน การบายศรีสู่ขวัญ อวยพรกัน สรงน้ำพระ การเข้าวัดทำบุญ การก่อเจดีย์ทราย การปล่อยนกปล่อยปลา การประกวดนางสังขาร (นางสงกรานต์ของประเทศลาว) และที่ขาดไม่ได้คือการเล่นน้ำและการปะแป้ง ไฮไลท์คือที่จะมีปีละครั้งคือการ สรงน้ำ พระบาง พระคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบาง
2 /5
“ติงยาน” หรือ ติงจัน (Thingyan) เป็นเทศกาลขึ้นปีใหม่ของ “เมียนมา” โดยชาวเมียนมาที่นับถือศาสนาพุทธมักจะเข้าวัด ทำบุญ ก่อพระเจดีย์ทราย(ในชุมชนที่สืบเชื้อสายจากชาวโยเดีย อยุธยา) การตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป ถือศีลปฏิบัติธรรม รักษาศีล รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ทำความสะอาดวัดหรือศาสนสถานไม่แตกต่างจากไทย ส่วนการสาดน้ำมักจะเป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ จัดขึ้นช่วงเดือน 5 (เมษายน) ของไทย แต่เป็นเดือน 1 ของพม่า ที่เรียกว่า “เดือนดะกู” (ช่วงมีนาคม-เมษายน) เป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ และเป็นเดือนต้นฤดูร้อน ปัจจุบันรัฐบาลพม่ากำหนดประเพณีสงกรานต์ให้ตรงกับวันที่ 13-17 เมษายนของทุกปี ชาวพม่าจะนิยมจัดงานบวชเณรให้ลูกชายและจัดงานเจาะหูให้ลูกสาว ดังนั้นจะเห็นขบวนแห่ลูกแก้วและลูกหญิงไปตามท้องถนนและรอบลานพระเจดีย์ ตามวัดต่างๆ
3 /5
สงกรานต์ในประเทศกัมพูชา เรียกว่า โจลชนัมทเมย หรือออกเสียงว่า ซ็องกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ในแต่ละปี รัฐบาลของประเทศกัมพูชาจะจัดให้มีเทศกาลสงกรานต์ ให้อยู่ในช่วงวันที่ 13-16 เมษายนของทุกปี จะมีการจัดงาน “อังกอร์ สงกรานต์” (Angkor Songkran) ขึ้นที่นครวัด สถานที่ซึ่งเป็นมรดกโลก เมืองเสียมเรียบ งานสงกรานต์ที่ใหญ่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยส่วนมากชาวกัมพูชามักจะทำในช่วงนี้คือ ทำความสะอาดบ้านเรือน เพื่อเป็นการต้อนรับเทวดา ทำบุญทำทาน สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การเต้นรำเฉลิมฉลอง ตลอดจนเล่นการละเล่นพื้นบ้าน รวมไปถึงการสาดน้ำ
4 /5
เทศกาลสาดน้ำของชาวไต สิบสองปันนา (Water-Sprinkling Festival) หรือเทศกาลพัวสุ่ยเจี๋ย หรือ “泼水节”เป็นคำจีนที่เรียกวันสังขาร(ประเพณีปีใหม่)ของชนชาติไทใน สิบสองปันนา โดยวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี คำว่า”สังขาร”เป็นคำเดียวกันกับ”สงกรานต์” แต่คนในสิบสองปันนาและล้านนาเขียนเป็น”สังขาร” ประเพณีวันสังขารที่สิบสองปันนาเหมือนกับปีใหม่เมืองของล้านนา เป็นประเพณีสงกรานต์ของชาวไต หรือชาวไท ในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา เต๋อหงไดและจิงโป มณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของจีน จะจัดงานสงกรานต์ประมาณวันที่ 13-15 เมษายน ชาวไตจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สวยงามและออกมาเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน มีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองต่างๆ การแข่งขันเรือมังกรที่เป็นเอกลักษณ์ของเทศกาลนี้ การระบำนกยูง ร้องรำทำเพลง การละเล่นน้ำ และการรดน้ำดำหัวให้กันและกัน เชื่อว่าจะเป็นการชะล้างสิ่งไม่ดีออกไปจากตัว
5 /5
น้อยคนนักที่จะทราบว่าสงกรานต์บ้านเรา มีเคล้าต้นกำเนิดมาจากแหล่งอารยธรรมประเทศอินเดีย ถึงแม้จะเป็นที่ถกเถียงในวงวิชาการจากนักประวัติศาตร์บางท่านที่แย้งว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งอาจหมายรวมถึงวัฒนธรรมประเพณีด้านอื่นๆด้วย แตกต่างกันตรงที่ไม่ได้เล่นน้ำ แต่จะเป็นการสาดสีกัน เรียกว่าา “โฮลิ” (Holi) หรือ “โฮลิปูรณิมา” ซึ่ง จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 (ราวๆ เดือนมีนาคม) ซึ่งก็คือการเปลี่ยนผ่านจากราศีหนึ่งไปยังอีกราศีหนึ่ง จะมีการเฉลิมฉลองด้วยการสาดสี เชื่อกันว่าเป็นการปัดเป่าเชื้อโรคร้ายให้ออกจากร่างกายเราให้หมดสิ้น ที่มีพื้นเพมาจากความเชื่อในศาสนาฮินดูในช่วงฤดูใบไม้ผลิ โดยชาวฮินดูออกมาเล่นสาดสีใส่กัน เพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย สำหรับฝุ่นผงสีที่ใช้สาดกันนั้นจะทำมาจากธรรมชาติ เช่น ดอกทองกวาว, บีทรูท, ขมิ้น อันเป็นนัยที่บ่งบอกถึงการสิ้นสุดของฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ การสาดสีจะเล่นกันเฉพาะช่วงเช้าจนถึงเที่ยงวันเท่านั้น จากนั้น ผู้คนก็จะแยกย้ายไปพักผ่อน เมื่อตกเย็นจะออกมาพบปะสังสรรค์กัน อีกทั้งยังเชื่อว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับเทศกาลนี้มา และปรับเปลี่ยน จากการสาดสี เป็นสาดน้ำใส่กันแทน นั่นก็คือ สงกรานต์ นั่นเอง
อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ ไลฟสไตล์คนเมือง ร้านอาหารเด็ดดัง แฟชั่นล่าสุด สุขภาพ และความงาม พร้อมกับ เรื่องราวทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ได้ที่ Lifestyle Asia
Hero and Featured images: Website pixabay, istockphoto, wikipedia
Reference / Credit Image
Website: bangkokbiznews
Website: skyscanner
Website: wonderfulpackage
Website: BBC Thai