Home > What’s On > ประวัติ International women’s day 2023 ชวนตระหนักถึง “ความเสมอภาค”
ประวัติ International women’s day 2023 ชวนตระหนักถึง “ความเสมอภาค”

เข้าสู่ยุคปี 2023 ที่เรื่องความเท่าเทียม และความเสมอภาคที่เป็นความสำคัญในโลกยุคปัจจุบัน ทำให้บทบาทของผู้หญิงก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้โลกใบนี้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ทุกคนตั้งไว้ นั้นจึงทำให้ 8 มีนาคมของทุกปี เราจะพาไปรู้จักกับ ประวัติ International women’s day หรือ วันสตรีสากล ให้มากกว่านี้

ประวัติ International women's day

แคมเปญธีมปีนี้ของ International women’s day 2023 คือ #EmbraceEquity หรือการโอบกอดความเสมอภาค ซึ่ง ความเสมอภาคเป็นสิ่งต้องมีในทุกสังคม รวมถึงการให้ความสำคัญกับความเสมอภาคทางเพศต้องอยู่ใน DNA ของทุกสังคม และ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่าง “ความเสมอภาค” และ “ความเท่าเทียม” โดยธีมแคมเปญ IWD 2023 กระตุ้นให้ทั่วโลกเข้าใจว่าเหตุใดทำไมเรื่องความเท่าเทียมกัน จึงยังไม่เพียงพอ!

สำหรับ ประวัติ International women’s day หรือ วันสตรีสากล นับเป็นการต่อสู้ของชนชาติแรงงานเลยก็ว่าได้ จนทำให้ทางองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ให้ความสำคัญก้าวไปสู่วันสำคัญของโลก โดย ตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันที่กรรมกรสตรีโรงงานทอผ้าในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ลุกฮือขึ้นเดินขบวนประท้วงการเอาเปรียบกดขี่ขูดรีด ทารุณ จากนายจ้าง ที่เห็นผลผลิตสำคัญกว่าชีวิตคน เริ่มต้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1857 (พ.ศ. 2400) ที่เหตุการณ์ครั้งนั้น มีผู้หญิงถึง 119 คน ต้องเสียชีวิต เนื่องจากมีคนลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอนั่งชุมนุมกันอยู่

ประวัติ International women's day

แต่จุดเริ่มต้นจริง ๆ ที่ทำให้เกิดวันนี้ต้องไปในปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) แรงงานหญิงในโรงงานทอผ้าที่เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ทนไม่ไหวต่อการเอารัดเอาเปรียบ ที่ต้องทำงานหนักถึงวันละ 16-17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด ไม่มีประกันการใช้แรงงานใด ๆ ทั้งสิ้น แต่กลับได้รับค่าแรงเพียงน้อยนิด แม้แต่ตั้งหากตั้งครรภ์ก็ถูกไล่ออก

“คลาร่า เซทคิน (Clara Zetkin)” ชื่อนี้ที่สตรีทั่วโลกต้องจดจำ เพราะหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดวันนี้ โดยเธอเป็นนักการเมืองสตรีสายแนวคิดสังคมนิยม ชาวเยอรมัน ที่ปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรี ด้วยการนัดหยุดงานในวันที่ ๘ มีนาคม ค.ศ. 1907 พร้อมกับเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง อีกทั้งให้ปรับปรุงสวัสดิการทุกอย่าง และ ให้สตรีมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย ถึงแม้จะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะหลายคนถูกจับกุม แต่นั้นก็สร้างแรงบันดาลใจให้สตรีทั่วโลกไปแล้วมากมาย

ประวัติ International women's day
คลาร่า เซทคิน (Clara Zetkin) ผู้มีบทบาทสำคัญต่อวันสตรีสากล ภาพโดย Getty Images

ในปีต่อมา วันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1908 (พ.ศ. 2451) แรงงานสตรีกว่า 15,000 คน เดินขบวนทั่วมหานครนิวยอร์ก เรียกร้องให้ยุติการใช้แรงงานเด็ก โดยมีคำขวัญการรณรงค์ว่า “ขนมปังกับดอกกุหลาบ” ซึ่งหมายถึงการได้รับอาหารที่พอเพียง และ เรียกร้องนายจ้างลดเวลางานเหลือ 8 ชั่วโมง และ สตรีต้องได้รับสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งได้

หลังจากต่อสู้การอย่างยาวนานของกรรมกรสตรีจนสัมฤทธิ์ผลเสียที เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 (พ.ศ. 2453) มีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ได้ยอมรับข้อเรียกร้อง ในระบบสาม 8 คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง พัฒนาศักยภาพของตัวเองอีก 8 ชั่วโมง และ อีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน พร้อมกันนี้ยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และ ยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรี และ แรงงานเด็กอีกด้วย ทั้งนี้ยังได้รับรองข้อเสนอของ คลาร่า เซทคิน ( Clara Zetkin) ด้วยการกำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสตรีสากล

ประวัติ International women's day

และยังมีการกำหนดสีประจำวันสตรีสากล คือ สีม่วง สีเขียว และ สีขาว โดยเริ่มต้นที่สีม่วง มีความหมายถึง ความยุติธรรม และ ความมีเกียรติ ส่วนสีเขียว เป็นการให้แห่งความหวัง และจบด้วยสีขาว เป็นภาพลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ซึ่งสีเหล่านี้มาจากสหภาพสังคม และการเมืองสตรี (Women’s Social and Political Union หรือ WSPU) ในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 1908

โดยภารกิจสำคัญของ วันสตรีสากล เพื่อให้ผู้หญิงได้นำเสนอความเสมอภาค ที่เข้ากับธีมปี 2023 #EmbraceEquity หรือแม้แต่ในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่าน ไม่ว่าจะเป็น ผู้หญิงที่อยู่ในการเปลี่ยนแปลงทุกภาคสังคม ในการทำงาน ความสร้างสรรค์ เทคโนโลยี มีอำนาจหน้าที่ช่วยสังคม สุขภาพ และ ด้านกีฬา

ประวัติ International women's day

มากกว่านั้นผู้หญิงทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติเหมารวมทางเพศ เรียกร้องการเลือกปฏิบัติ เลิกการอคติ และ การแบ่งแยก เป็นการเคลื่อนไหวร่วมกันเพื่อให้สังคมไปข้างหน้าตั้งแต่การดำเนินการระดับรากหญ้าไปจนถึงแรงผลักดันในวงกว้าง ว่าเราทุกคนยอมรับความเท่าเทียมได้ รวมถึง การสร้างความเสมอภาคทางเพศ ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะเพศหญิงเท่านั้น ซึ่งพันธมิตรในทุกสังคม ล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความก้าวหน้าทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และ การเมืองของผู้หญิง

 

Main, Hero and Featured images: International Women’s Day 2023 campaign, Getty Images

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ ไลฟสไตล์คนเมือง ร้านอาหารเด็ดดัง แฟชั่นล่าสุด สุขภาพ และความงาม พร้อมกับ เรื่องราวทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ได้ที่ Lifestyle Asia

 

References:
https://www.thaiwomen.or.th/
https://www.internationalwomensday.com/

 

ประวัติ International women’s day 2023 ชวนตระหนักถึง “ความเสมอภาค”

Anusorn Rueandara

ดื่มด่ำกาแฟดำ รักการดูหนัง อินการเล่นเกม ท่องเที่ยวปีนป่าย บ้าออกกำลังกาย รักการอ่านหนังสือ และมีชีวิตอยู่กับลมหายใจเข้า-ออก มากกว่านั้น อยากให้ทุกคนบนโลกใบนี้มีชีวิตที่ดีขึ้นไม่ว่าจะทั้งทางกายและทางใจ ได้ใช้ชีวิตทำตามที่ฝันและได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง

 

Sign up for our newsletters to have the latest stories delivered straight to your inbox every week.

Yes, I agree to the Privacy Policy