Home > Entertainment > ซีรีส์ อนิเมชั่น แห่งโลกอนาคต Cyberpunk: Edgerunner
ซีรีส์ อนิเมชั่น แห่งโลกอนาคต Cyberpunk: Edgerunner

อาจจะถือว่าช้าสักหน่อย ถ้าจะพูดถึงความดังของซีรีส์อนิเมชั่น Cyberpunk: Edgerunner ที่สร้างจากเกมระดับ AAA ของทีมงาน CD PROJEKT RED ทีมงานผู้สร้างเกมชื่อดังสัญชาติโปแลนด์ ที่โด่งดังมาจากการสร้างเกม The Withcer Series และล่าสุดกับเกมที่วางจำหน่ายในปี ค.ศ. 2020 อย่าง Cyberpunk 2077 ที่กลายเป็นเกมที่ชาวเกมเมอร์ ต่างรอคอย และกลายเป็นจุดด่างพร้อยของ CD PROJEKT RED ที่ทางทีมงานต้องเก็บไปแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ในปี ค.ศ. 2013 ทาง CD PROJEKT RED ได้เปิดเผย trailer สั้น ๆ และ concept art เกี่ยวกับการสร้างเกม Cyberpunk 2077 ซึ่งทำให้แฟนเกมทั่วโลกต่างตื่นเต้น และรอคอยการพัฒนาเกมนี้อย่างยาวนาน จนกระทั่งในงาน E3 ปี ค.ศ. 2018 ทางทีมงานก็ได้ประกาศอย่างเป็นทางการ ว่าตัวเกมนั้นอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา มาตั้งแต่ ค.ศ. 2013 และสำเร็จ พร้อมวางจำหน่ายในปี ค.ศ. 2020 แต่ต่อมา กลับกลายเป็นข้อครหาของทางทีมผู้สร้างเกมอย่างมาก เนื่องจากเกมเต็มไปด้วยบัค ข้อผิดพลาดในการสร้างมากมาย ไม่สมกับที่ทางแฟน ๆ รอคอยมาหลายปี กลายเป็นเกมที่เปิดตัวได้ยิ่งใหญ่ แต่กลับมีจำนวนผู้เล่นลดลงจนน่าตกใจ

นอกจากที่ทางทีมงานออกมาขอโทษ และทำงานซ่อมเกมไปเรื่อย ๆ ทาง CD PROJEKT RED ก็ร่วมมือกับสตูดิโอผลิตอนิเมชั่นมือทอง จากประเทศญี่ปุ่นอย่าง Trigger สร้างอนิเมชั่นจากจักรวาลเกม Cyberpunk 2077 ขึ้นมา เป็น Cyberpunk: Edgerunner และได้รับความนิยมเป็นพลุแตก หลังจากฉายให้รับชมกันบน Netflix ได้เพียงไม่นาน

ความโด่งดัง และกระแสของอนิเมชั่นเองทำให้เกิดการ “ปลุกผี” ของแฟนเกมที่เลิกเล่นเกมนี้ไปแล้ว ให้กลับเข้าไปเล่นเกมอีกครั้ง และพบว่า ตัวเกมได้รับการแก้ไข จนอยู่ในสภาพเล่นได้ดีขึ้นอย่างมาก และทำให้ประสบการณ์การเล่นเกม หลังจากดูอนิเมชั่นเรื่องนี้ ทำให้ยอดผู้เล่นพุ่งสูงขึ้นจนน่าตกใจ (ซึ่งเราจะไม่สปอยล์หรอกว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร ไปลองดูเรื่องนี้กันก่อนจะดีกว่า)

Cyberpunk: Edgerunner วางโครงเรื่องไว้ ในจักรวาลเดียวกันกับเนื้อเรื่องในเกม Cyberpunk 2077 ที่มนุษย์มีเทคโนโลยี ในการผ่าตัดปลูกถ่ายชิ้นส่วนเครื่องจักร ลงในร่างกายได้อย่างง่ายดาย และแพร่หลายไปในคนทุกชนชั้นของสังคม เนื่องจากเป็นการเสริมสมรรถภาพ ของร่างกายได้มาก และสะดวกปลอดภัย แต่ถ้าปลูกถ่ายมากเกินไป จะทำให้ร่างกายเกิดภาพหลอน วิกลจริตจากการติดตั้งอุปกรณ์มากไป เรียกว่า วิกลจริตไซเบอร์ (CyberPsycho)

ซึ่งในเนื้อหาของอนิเมชั่น ถูกตั้งไว้ให้เกิดขึ้นในปี 2076 เกิดขึ้นก่อนเรื่องราวในตัวเกมที่เกิดขึ้นในปี 2077 และนอกจากตัวอนิเมชั่นจะใส่ สถานที่ อุปกรณ์ เรื่องราว ที่อ้างอิงมาจากตัวเกมแล้ว ในตัวเกมเอง ก็มีการใส่ Easter Eggs จากอนิเมชั่นซ่อนไว้ในตัวเกม ทั้งไอเทมที่ซ่อนไว้ และเรื่องราวของอนิเมชั่น ก็มีการบันทึกไว้ในตัวเกมด้วยเช่นกัน อ้อ คำเตือน อนิเมชั่นเรื่องนี้อาจไม่เหมาะสำหรับเด็ก เต็มไปด้วยภาพอาชญากรรม เลือด พฤติกรรมไม่สุภาพ และเรื่องทางเพศ กรุณาแยกแยะความเป็นจริง ออกจากความบันเทิงด้วยนะ

กลายเป็นว่า อนิเมชั่นและเกมจากซีรีส์ Cyberpunk 2077 นี้ สร้างความนิยม และสร้างความหวังให้กับทีมงานผู้สร้างเกมขึ้นมาอีกครั้งได้ด้วย ซึ่ง เราขอแนะนำว่าอย่าพลาดชม และ Beat Adam Smasher to scraps!!

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ ไลฟสไตล์คนเมือง ร้านอาหารเด็ดดัง แฟชั่นล่าสุด สุขภาพ และความงาม พร้อมกับ เรื่องราวทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ได้ที่ Lifestyle Asia

ซีรีส์ อนิเมชั่น แห่งโลกอนาคต Cyberpunk: Edgerunner

Pattarapong Khruapu

นักเขียนฟรีแลนส์ผู้เป็นทาสแมวและมีวัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นสรณะ ชื่นชอบในการอ่าน ท่องเนต เล่นเกม และเดินเล่นในสวน เป้าหมายคือไปเที่ยวญี่ปุ่นให้บ่อยเท่าที่กำลังทรัพย์จะอำนวย

 

Sign up for our newsletters to have the latest stories delivered straight to your inbox every week.

Yes, I agree to the Privacy Policy